รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
การแก้ปัญหาต่อไปนี้ มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร
โดย TriZit Benjaboonyazit - อังคาร, 18 สิงหาคม 2009, 03:06PM
 

ได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์มา  ลองช่วยกันคิดดูว่า  การแก้ปัญหาต่อไปนี้  มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร


เรื่องแรก
อเมริกาส่งนักบินไปในอวกาศเจอปัญหาปากกาเขียนไม่ออก
นักวิทยาศาสตร์ระดมปัญญาเพื่อประดิษฐ์ปากกา
ที่สามารถเขียนในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้
ต้องทุ่มเงินหลายร้อยล้านเหรียญและใช้เวลาไปหลายปี
ในที่สุดได้ปากกาที่สามารถเขียนได้ทุกพื้นผิว
แม้ใต้น้ำก้อเขียนได้
ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง
แต่นักบินอวกาศรัสเซีย ประสบปัญหาเดียวกัน
ใช้ดินสอเขียนแทนปากกา
*******************************
เรื่องที่สอง
โรงงานผลิตสบู่ในญี่ปุ่นประสบปัญหา
เมื่อส่งสินค้าไปแล้วลูกค้าบ่นเรื่องบางกล่องไม่มีสบู่ เป็นกล่องเปล่าๆ
ทางโรงงานติดตั้งเครื่อง X-Ray เพื่อตรวจสอบ
ใช้เงินลงทุนไปหลายล้านเยน กล่องไหนไม่มีสบู่ก้อตรวจจับได้
ทำให้สามารถส่งสบู่ที่ไม่มีกล่องเปล่าอีก
แต่โรงงานเล็กๆ อีกโรงประสบปัญหาเดียวกัน
ช่างคุมงานใช้พัดลมตัวใหญ่ๆ เป่าลมบนสายพาน
กล่องเปล่าก็ปลิวออกไป

รูปภาพของJ J
ตอบ: การแก้ปัญหาต่อไปนี้ มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร
โดย J J - ศุกร์, 28 สิงหาคม 2009, 06:09PM
 

ผมลองเสนอแนวทางของ TRIZ สำหรับปัญหาข้อแรก

มุมมองของปัญหาคือ ปากกาไม่สามารถเขียนได้ในภาวะไร้แรงโน้มถ่วง

Parameter ที่ต้องการปรับปรุง32 ความสามารถในการผลิต ในกรณีนี้คือ ความสามารถในการเขียนในอวกาศ

Parameter ที่แย่ลง - 30 ปัจจัยอันตรายซึ่งกระทำต่อวัตถุจากภายนอก ในกรณีนี้คือ ภาวะไร้แรงโน้มถ่วงในอวกาศ

Inventive Principles -

24 ใช้ตัวกลาง - ใช้ตัวกลางเป็นตัวส่งผ่าน หรือ ก่อให้เกิดการกระทำ. ในสภาพไร้น้ำหนักหมึกของปากกาจะอยู่ในสภาพเป็นหยด ลอยเคว้งคว้าง แนวทางในการแก้ปัญหาคือต้องมีตัวกลางที่มีพลัง และสามารถจะนำหมึกไปยังจุดที่ต้องการคือปลายปากกา ในเชิงปฏิบัติแล้ว พลังที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในสภาพไร้น้ำหนักคือ Capillary Force ของเหลวที่อยู่ในหลอดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็ก แรงตึงผิวของของเหลวจะ สามารถดึงเอาน้ำหนักจำนวนหนึ่งไปในทิศทางที่ต้องการได้ ในการออกแบบต้องให้ขนาดของหลอดหมึกมีปลายทั้งสองด้านมีขนาดไม่เท่ากันเพื่อบังคับให้หมึกไหลไปทางด้านที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าซึ่งเป็นจุดที่ปากกาสัมผัสกับกระดาษ Capillary Force เป็นแรงที่มีคุณสมบัติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสภาพมีน้ำหนัก หรือ ไร้น้ำหนัก คุณสมบัติสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบคือ รัศมีของหลอดหมึก ความหนาแน่นของหมึก แรงตึงผิวของหมึก ที่เหมาะสม เมื่อหมึกสามารถไหลไปสำผัสกับกระดาษได้ ฟังค์ชั่นการเขียนก็เกิดขึ้น

2 สกัดออก - สกัดสมบัติที่รบกวนออกจากระบบ. สภาพที่รบกวนในกรณีนี้คือสถานะการเป็นของเหลวของหมึก ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ในสภาพไร้น้ำหนัก แนวทางแก้ปัญหาคือ ถ้าเราเขียนในสภาพ ของแข็ง หรือ ก๊าซ ได้ไหม ? ของแข็ง - เราคงนึกถึงไส้ดินสอ เมื่อดินสอสัมผัสกระดาษฟังค์ชั่นการเขียนก็เกิดขึ้น ก๊าซ - ถ้าเราเขียนด้วยก๊าซ จะต้องมีตัวนำก๊าซไปสัมผัสกระดาษ ต้องมีแรงดัน ซึ่งจะต้องมีระบบที่ซับซ้อน ดังนั้นแนวทางที่ง่ายที่สุดคือ เขียนด้วยดินสอ

ถ้ามีแนวคิดที่แตกต่างก็ลอง Post มาคุยกันนะครับ

ยิ้ม JJ ยิ้ม

 

 


รูปภาพของJ J
ตอบ: การแก้ปัญหาต่อไปนี้ มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร
โดย J J - ศุกร์, 28 สิงหาคม 2009, 07:35PM
 

ผมลองเสนอแนวทางของ TRIZ สำหรับปัญหาข้อที่ 2 

มุมมองของปัญหาคือ การตรวจสอบกล่องบางกล่องที่ไม่มีสบู่ได้แม่นยำได้อย่างไร ?

Parameter ที่ต้องการปรับปรุง39 ผลิตภาพ ในกรณีนี้คือ ตรวจสอบกล่องที่ไม่มีสบู่ได้เร็ว ปริมาณมาก

Parameter ที่แย่ลง - 28 ความแม่นยำในการวัด ในกรณีนี้คือ ตรวจสอบกล่องที่ไม่มีสบู่ได้ไม่แม่นยำ

Inventive Principles -

10 การกระทำก่อน Preliminary Action - ทำการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการกับวัตถุล่วงหน้า เมื่อเรารู้ว่า กล่องเปล่าจะต้องถูกตรวจสอบอย่างแม่นยำ การตรวจสอบจะถูกกระทำหลังกระบวนการบรรจุสบู่ลงในกล่อง เราควรมีการกระทำอะไรบางอย่างที่กระบวนการบรรจุสบู่ เพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่าง กล่องที่มีสบู่ และ กล่องที่ไม่มีสบู่ เพื่อให้สามารถ ตรวจสอบด้วยสายตาได้ง่าย เช่น แต้มสี หรือ แต้มสารเรืองแสงที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่มองเห็นใต้แสง UV ที่จุดตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้กล่องสบู่ไม่มีตำหนิ

28 แทนระบบเชิงกล Replace Mechanical System แทนระบบเชิงกลด้วยพลังอื่นๆ พลังงานที่สามารถนำมาใช้ช่วยในการตรวจสอบเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ - ไฟฟ้า / แสง / เสียง / ความร้อน / แม่เหล็ก / แรงโน้มถ่วง / อากาศ แต่ควรเลือกพลังงานที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดหรือฟรี แต่กฎกติกาคือ พลังงานนั้นต้องสามารถแยกความแตกต่างระหว่าง กล่องที่ไม่มีสบู่และกล่องที่มีสบู่ได้แม่นยำ ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ น้ำหนัก ฉะนั้นหัวใจของการตรวจสอบคือ แรงโน้มถ่วง เพราะทำให้เกิดน้ำหนัก

แนวทางที่ 1 - กล่องสบู่วิ่งบน Conveyor  Belt ที่มีความเร็ว เตรียมกล่องไว้ใส่กล่องที่มีสบู่ เมื่อสิ้นสุด Conveyor Belt ปล่อยให้กล่องตกด้วยความเร็วและแรงโน้มถ่วง กล่องเปล่าจะตกใกล้ แต่กล่องที่มีสบู่จะตกไกล ตามหลักของ Momentum

แนวทางที่ 2 - พลังงานราคาถูกคือ อากาศ เป่าลมจากด้านล่างสายพาน โดยสายพานออกแบบให้มีรู ใช้แรงลมในระดับที่เป่ากล่องเปล่าให้ออกจากสายพานได้แต่ไม่สามารถเป่ากล่องที่มีสบู่ได้  

พลังงานอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า / แสง / เสียง / ความร้อน / แม่เหล็ก ราคาแพง เพราะต้องการระบบที่ซับซ้อน หรือไม่ก็ ไม่แม่นยำเท่าที่ต้องการ

ถ้ามีแนวคิดที่แตกต่างก็ลอง Post มาคุยกันนะครับ

ยิ้ม JJ ยิ้ม

 

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: การแก้ปัญหาต่อไปนี้ มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร
โดย TriZit Benjaboonyazit - จันทร์, 31 สิงหาคม 2009, 10:44AM
 

ขอบคุณคุณ JJ ครับที่ร่วมเสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาตามแนวทางของ TRIZ

โจทย์ข้อแรกนั้น  ผมคิดว่าสามารถแก้ปัญหาได้โดยพยายามจับคู่ความขัดแย้งแล้วหาหลักการที่เหมาะสมไปสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อแก้ปัญหาอย่างที่คุณ JJ ทำไว้ข้างบน

หรือ อาจใช้วิธีการของหน้าต่าง 9 บาน( 9 Windows)  มองปัญหาทั้งในระบบส่วนบน(SuperSystem) และ ระบบส่วนล่าง(Subsystem)ด้วย  ไม่ใช่มองปัญหาอยู่ที่ตัวระบบ(System)อย่างเดียว  เพราะอาจมีคำตอบที่ดีกว่าอยู่ในระบบส่วนบน(SuperSystem) และ ระบบส่วนล่าง(Subsystem) เช่นที่รัสเซียมองไปที่ระบบส่วนล่าง(Subsystem)   หาวัสดุที่เป็นของแข็งมาแทนที่หมึกเหลวซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบ หรือเป็นระบบส่วนล่าง(Subsystem)นั่นเอง

ถ้าจะมองปัญหาในระดับระบบส่วนบน(SuperSystem)ก็ได้เช่นกัน    การเขียนหนังสือด้วยปากกาลูกลื่นนั้นเป็นระบบหนึ่งภายใต้ระบบที่อยู่เหนือกว่า(SuperSystem) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบสื่อสารข้อมูล   นักบินอวกาศอาจใช้วิธีการอื่นเพื่อการบันทึกหรือสื่อสารข้อมูลได้สะดวกขึ้นภายใต้สภาะไร้น้ำหนัก เช่น เขียนบนกระดานที่ทำจากผงแม่เหล็ก หรือ เขียนใส่ Notepad ที่จะรับสัญญานลายเส้นที่กดลงไปแล้วแปลงเป็นตัวอักษรส่งไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ต่อไป   ส่วนเทคโนโลยีใดจะเหมาะสมนั้นอาจดูได้จากวิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยีในบานหน้าต่างที่เหลือ คือ ช่องอดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ดังตัวอย่างของโทรศัพท์มือถือในรูปข้างล่างนี้
(from http://www.osaka-gu.ac.jp/php/nakagawa/TRIZ/eTRIZ/)


รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: การแก้ปัญหาต่อไปนี้ มองในเชิง TRIZ ได้อย่างไร
โดย TriZit Benjaboonyazit - จันทร์, 31 สิงหาคม 2009, 09:18AM
 

โจทย์ข้อที่ 2 นั้น  ก็สามารถแก้ปัญหาได้โดยพยายามจับคู่ความขัดแย้งแล้วหาหลักการที่เหมาะสมไปสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อแก้ปัญหาอย่างที่คุณ JJ ทำไว้ข้างบน   

ผมเห็นด้วยกับคุณ JJ ว่า   ควรจะหาแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกมาใช้ในการแก้ปัญหาแทนการติดตั้งพัดลมมาเป่าให้กล่องปลิวกระเด็น      ยิ่งถ้าสามารถหาแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้วภายในระบบมาใช้ให้เกิดประโยชน์(ตามแนวคิดในเรื่องทรัพยากร)   ก็จะทำให้การแก้ปัญหามีความเป็นอุดมคติมากขึ้น  เช่น ใช้พลังงานแรงโน้มถ่วง  หรือ พลังงานจากแรงหนีศูนย์กลางของกล่องที่เคลื่อนที่บนสายพานที่โค้ง ก็จะทำให้กล่องที่เบากว่าปลิวกระเด็นไปได้เช่นกัน  โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากร(พัดลม)จากภายนอกมาช่วย

ดูเรื่อง ระบบในอุดมคติ(Ideality) ที่ http://www.trizthailand.com/elearningx/mod/forum/discuss.php?d=146

http://www.trizthailand.com/elearningx/file.php/1/moddata/forum/1/860/pillx.JPG