รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
สู้ความสั่น...ด้วย"ช้อน"
โดย TriZit Benjaboonyazit - เสาร์, 16 พฤศจิกายน 2013, 02:03PM
 
ไปเจอสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ ขออนุญาตนำมาแชร์โดยมองจากมุมมองของ TRIZ



ไอที จะดีได้ หากช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้น...ซีจึงเลือกนำเสนอผลลัพธ์ดีๆ ที่เกิดจากการใช้ไอทีเสมอค่ะ

วันนี้จะขอพูดเรื่อง ช้อนไฮเทค…ช้อนที่ช่วยให้คนชีวิตดีขึ้นได้

โรคพาร์กินสัน หรือที่คุ้นหูคนไทยในชื่อโรคสันนิบาต หรือสันนิบาตลูกนก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยในผู้สูงอายุรองลงมาจากอัลไซเมอร์ค่ะ

โรคนี้เริ่มรู้จักเยอะเพราะเหล่าคนดังทั่วโลกต่างเป็นกันมากขึ้น เช่น สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2, มูฮัมหมัด อาลี, ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ ในไทยเองก็มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่าหลายแสนคน...เยอะนะคะ

โรคนี้เกิดจากเซลล์สมองส่วนที่สร้างโดปามีน ฮอร์โมนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายตาย

อาการ...ของโรค คือ เคลื่อนไหวช้าลง มีอาการเกร็ง จนร้ายแรงถึงขั้นเริ่มมือสั่นจนควบคุมไม่ได้ แม้จะอยู่เฉยๆก็ตามก็สั่นๆๆ หลายคนที่เป็นเลย อายค่ะ ไม่กล้าออกไปเผชิญโลกภายนอก เพราะไม่อยากให้เห็นอาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้

จริงๆ ผู้ป่วยโรคนี้ น่าเห็นใจนะคะ เป็นแล้วไม่ถึงกับตายแต่ต้องทรมาน เพราะต้อง “สั่น” ไปตลอด ไม่มีทางรักษา ดูแลตัวเองยากค่ะ จะกินข้าวก็ไม่ได้ อาหารหล่นจากช้อนตอนตักเข้าปาก...

ล่าสุดมีเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Liftware ช้อนไฮเทคที่ให้ผู้ป่วยมือสั่นๆ ตักอาหารกินเองได้

ความเจ๋ง คือ ช้อนนี้จะลดการสั่นของมือได้ถึง 70%

ที่ด้ามจับใส่มอเตอร์ขนาดเล็กเอาไว้ มือสั่นเมื่อไหร่ มันจะขยับในทิศทางตรงข้าม กับการสั่นของมือผู้ป่วยให้หักล้างกันจนเหมือนช้อนไม่สั่น

ช้อนไม่สั่น….อาหารก็ไม่หล่น

วิธีนี้ดีกว่าการใช้สายรัดล็อกช้อนเข้ากับข้อมือเพราะทำให้ผู้ป่วยได้ขยับมือ ขยับแขนได้สะดวกกว่า...และดูแลตัวเองได้เพิ่มขึ้นหนึ่งอย่างก็รู้สึกดี เชื่อสิคะ…

ข้อเสียคือ ยังแพงอยู่ค่ะ เกือบหมื่นแน่ะค่ะ

แต่คนพัฒนาชาวเมกัน ก็หวังจะผลิตได้ถูกลงและใช้ทฤษฎีนี้กับอุปกรณ์รอบตัวอื่นๆ ด้วย

เชื่อว่า ข่าวนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจไอเดียให้นักประดิษฐ์ชาวไทยต่อไปนะคะ


ซี ฉัตรปวีณ์


http://www.thairath.co.th/content/tech/382780

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: สู้ความสั่น...ด้วย"ช้อน"
โดย TriZit Benjaboonyazit - เสาร์, 16 พฤศจิกายน 2013, 02:39PM
 
ปัญหาโรคพาร์กินสัน เป็นปัญหาในวงการแพทย์ ซึ่งถ้าคิดหาวิธีการแก้ปัญหา พวกที่อยู่ในวงการแพทย์ เช่น หมอ พยาบาล หรือ เภสัชกร ก็คงคิดอยู่ในกรอบความถนัดหรือความคุ้นเคยของตนเอง (Psychological Inertia) โดยการนึกถึงการใช้ยาเป็นหลัก คงไม่มีใครคิดว่า จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านั้นซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่คล้ายๆกันในอุตสาหกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่วงการแพทย์

มีสักกี่คนที่จะรู้ว่า มีคำตอบสำหรับปัญหาที่คล้ายกันนี้อยู่ในอุตสากรรมรถยนต์ ดังเช่นระบบควบคุมเสียงรบกวนเข้าห้องโดยสาร Active Noise Control (ANC)



ระบบควบคุมเสียงรบกวนเข้าห้องโดยสาร Active Noise Control (ANC) และ Active Sound Control (ASC)
ประเด็นหลักในการสร้างความพึงพอใจต่อการขับขี่ Honda Accord คือความเงียบในห้องโดยสาร การนำระบบ Active Noise Control (ANC) และ Active Sound Control (ASC) เข้ามาใช้ ทั้ง 2 ระบบใช้ไมโครโฟน 2 ตัว สัญญาณการประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์ ANC/ASC และลำโพง 4 ตัว ในระบบเครื่องเสียงของ Accord โดย ANC/ASC จะทำหน้าที่ควบคุมและขจัดเสียงที่จะเข้าสู่ห้องโดยสารในขณะที่รถกำลังวิ่ง หรือแม้ในขณะที่ระบบเครื่องเสียงไม่มีการเปิดใช้งานขึ้นมาก็ตาม ระบบ ANC ได้รับการออกแบบมาเพื่อลดเสียงคลื่นความถี่ต่ำในห้องโดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาจากการแล่นผ่านพื้นผิวถนนที่ขรุขระ โดยไมโครโฟนที่ติดอยู่ด้านบนจะรับคลื่นเสียง และส่งไปที่ตัวประมวลผล ANC/ASC ซึ่งจะมีการสร้างและส่งสัญญาณเสียงที่ได้รับการดัดแปลงให้มีรูปแบบคลื่นตรงกันข้ามกลับไปที่ตัวกระจายเสียงอย่างแม่นยำ แล้วตัวกระจายเสียงก็จะส่งเสียงที่ได้รับการดัดแปลงนี้ออกมาทางลำโพงที่ติดตั้งอยู่บนบานประตูเพื่อขจัดสัญญาณเสียงดั้งเดิมออกไป ASC เป็นเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพเสียงของเครื่องยนต์ ด้วยการสร้างระดับแรงดันของเสียงให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับเวลาที่รอบเครื่องยนต์กำลังเพิ่มขึ้น

โดยปกติแล้ว เสียงเครื่องยนต์ไม่ได้แปรผันโดยตรงกับรอบเครื่องยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จะมีการสะท้อนไปมาหลายครั้งจนทำให้ระดับของเสียงเครื่องยนต์ที่ได้ยินไม่สม่ำเสมอ ระบบ ASC จะส่งคลื่นเสียงออกจากลำโพงบนบานประตูด้วยสัญญาณที่มีลักษณะเฟสเหมือนกัน หรือเฟสแบบตรงกันข้ามตามความเหมาะสม เพื่อทำให้เสียงที่ได้ยินมีความราบเรียบ และสม่ำเสมอ ระบบนี้จะให้ประโยชน์ตั้งแต่รอบเดินเบาไปจนถึงการลากรอบจนถึงแถบเรดไลน์ แต่ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดของระบบคือ ช่วงรอบเครื่องยนต์ระหว่าง 1,000-2,000 รอบ/นาที ซึ่งระดับแรงดันของเสียงค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 3 เดซิเบล พร้อมกับมีรูปแบบของสัญญาณเสียงที่ตรงกันข้าม


http://www.thairath.co.th/content/life/342101

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: สู้ความสั่น...ด้วย"ช้อน"
โดย TriZit Benjaboonyazit - เสาร์, 16 พฤศจิกายน 2013, 02:53PM
 
แนวทางการแก้ปัญหาของโรคพาร์กินสันด้วยช้อนที่ควบคุมการสั่นในทิศทางที่ตรงกันข้ามนี้ สอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาของ TRIZ ที่ปรากฏอยู่ใน 76 คำตอบมาตรฐานข้อหนึ่งที่ว่า กำจัดฟังก์ชันหรือผลลัพธ์ที่อันตรายหรือที่ไม่พึงประสงค์โดยใช้สนามพลังอันใหม่

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: สู้ความสั่น...ด้วย"ช้อน"
โดย TriZit Benjaboonyazit - เสาร์, 16 พฤศจิกายน 2013, 03:21PM
 
อัลต์ชูลเลอร์ได้ทำการค้นคว้าสิทธิบัตรต่างๆมากกว่า 2 แสนฉบับ เพื่อค้นหาหลักการการแก้ปัญหาที่นักประดิษฐ์ในสาขาต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบันประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยได้รวบรวมขึ้นมาเป็นเครื่องมือและฐานข้อมูลของ TRIZ เพื่อใช้สร้างสรรค์ไอเดียในการแก้ปัญหาต่างๆ

หากเรารู้หลักการต่างๆเหล่านี้ และ ฝึกใช้จนคุ้นเคยและชำนาญ ก็จะช่วยทำให้การแก้ปัญหาต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาให้กับการลองผิดลองถูกอีกต่อไป