รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
มองมุม TRIZ : 4. การพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)
โดย TriZit Benjaboonyazit - พฤหัสบดี, 27 กันยายน 2012, 10:22AM
 
ในตอนที่แล้ว เราได้พูดถึงวิวัฒนาการของเครื่องเล่นเกมโดยเฉพาะเครื่องเล่นเกมที่เรียกว่า Wii ของ Nintendo ซึ่งสามารถนำมาใช้เล่นออกกำลังกายอยู่หน้าจอทีวีได้ โดยได้วิเคราะห์ตามแนวทางของ TRIZ แสดงให้เห็นว่าในระบบเทคโนโลยีต่างๆไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์(Product)หรือกระบวนการผลิต(Process)นั้น จะประกอบด้วยระบบย่อยๆที่เรียกว่า Subsystem ซึ่งเทคโนโลยีของระบบย่อยๆเหล่านี้จะมีวิวัฒนาการช้าเร็วไม่เท่ากัน (Non-Uniform Development of System Elements) ถ้าเราพยายามมองให้ออกว่าเทคโนโลยีของระบบย่อยใดยังล้าหลังอยู่ ย่อมเป็นโอกาสสำหรับเราที่จะค้นพบและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆในแบบฉบับที่ไม่เคยมีมาก่อน(disruptive innovation)
ในบทความเรื่อง Achieving Effective Innovation Based On TRIZ Technological Evolution โดย J.G. Sun และคณะได้เขียนวิเคราะห์เกี่ยวกับการพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)ตามแนวทางของ TRIZ ไว้อย่างน่าสนใจ เราลองมาดูกันว่าเครื่องเล่นเกมแบบใหม่นี้คิดขึ้นมาได้อย่างไร และ ในอนาคตจะวิวัฒนาการไปในทิศทางใด
กระบวนการของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์เป็นกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ที่มุ่งไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายในอุดมคติ( Ideal Final Result, IFR)ที่ต้องการ แนวคิดเกี่ยวกับ IFR ได้รับการเสนอโดย Altshuller ในปี 1950 เพื่อใช้เป็นทิศทางในการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาหรือการพัฒนานวัตกรรมนั้นจะต้องพยายามดำเนินการให้เข้าใกล้ผลลัพธ์สุดท้ายในอุดมคติให้มากที่สุด การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงจะมีทั้งนวัตกรรมแบบต่อเนื่อง(Sustaining Innovation)และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด(Disruptive Innovation)สลับกันไปควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของฟังก์ชันการใช้งานดังที่แสดงในรูปข้างล่าง นวัตกรรมแบบ Sustaining Innovation นั้น หมายถึงนวัตกรรมที่มีการพัฒนาต่อเนื่องจากเดิมให้ดีขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่นรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น ส่วนนวัตกรรมแบบ Disruptive Innovation นั้น หมายถึงนวัตกรรมที่เกิดใหม่ ไม่เหมือนของเดิมโดยสิ้นเชิง สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์เดิมตกรุ่น หมดยุค ไร้ประโยชน์ไปเลย เช่น การเกิดขึ้นของความพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่นำไปสู่การยกเลิกการใช้เครื่องพิมพ์ดีดแบบเดิมไปอย่างถาวร เป็นต้น

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: มองมุม TRIZ : 4. การพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)
โดย TriZit Benjaboonyazit - พฤหัสบดี, 27 กันยายน 2012, 10:24AM
 
นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทตลาดใหม่(New Market) และ ประเภทตลาดล่าง(Low-end) นวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดใหม่เป็นการกระโดดข้ามความไม่สมดุลของวิวัฒนาการของระบบย่อยๆตัวผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบต่อเนื่องมายาวนานจนทำให้ระบบย่อยบางระบบได้รับการพัฒนาช้ากว่าที่ควร ส่วนนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดล่างนั้นเป็นการกระโดดข้ามการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่มากเกินจำเป็นอันเกิดจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบต่อเนื่องมายาวนาน ในกระบวนการพัฒนานวัตกรรมนั้นจะต้องมองให้ออกว่าจะเลือกพัฒนานวัตกรรมแบบต่อเนื่องหรือจะเลือกพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ถ้าเป็นอันหลังก็จะต้องมองให้ออกว่าจะเลือกพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดใหม่(New Market) และ ประเภทตลาดล่าง(Low-end) หลังจากที่ได้เลือกการพัฒนานวัตกรรมที่ต้องการแล้ว เราสามารถพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ(latent technologies)ได้ โดยใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยีของ TRIZ เพื่อให้การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ(Effective Innovation)บรรลุผลในที่สุดดังรูปข้างล่าง

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: มองมุม TRIZ : 4. การพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)
โดย TriZit Benjaboonyazit - พฤหัสบดี, 27 กันยายน 2012, 10:26AM
 
ในการพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ(latent technologies)นั้น ก่อนอื่นจะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะพัฒนานวัตกรรมแบบต่อเนื่องหรือจะเลือกพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดด ถ้าเป็นอันหลังก็จะต้องมองให้ออกว่าจะเลือกพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดใหม่(New Market) และ ประเภทตลาดล่าง(Low-end) แล้วจึงพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพให้เหมาะกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่ต้องการดังรูปข่างล่าง สำหรับการพัฒนานวัตกรรมแบบต่อเนื่องนั้น เทคโนโลยีหลักของผลิตภัณฑ์จะมีการพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นการพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะมุ่งไปที่อนาคตของเทคโนโลยีหลักของผลิตภัณฑ์ สำหรับการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดล่างนั้น เทคโนโลยีหลักของผลิตภัณฑ์มีการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากเกินความจำเป็น ดังนั้นการพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะมุ่งไปที่ยุคก่อนของเทคโนโลยีหลักของผลิตภัณฑ์เพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่มีความเรียบง่ายขึ้น สำหรับการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดประเภทตลาดใหม่นั้น สืบเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบย่อยๆในผลิตภัณฑ์มีความก้าวหน้าไม่เท่ากัน ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนานวัตกรรมในระบบย่อยที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้าหลัง(lagged technologies) ดังนั้นการพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะมุ่งไปที่อนาคตของเทคโนโลยีที่ล้าหลังของระบบย่อยในผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งจะทำให้เกิดตลาดใหม่ขึ้นมา และอาจกลืนกินตลาดเก่าได้ในที่สุด

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: มองมุม TRIZ : 4. การพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)
โดย TriZit Benjaboonyazit - พฤหัสบดี, 27 กันยายน 2012, 10:27AM
 
ในตัวอย่างของวิวัฒนาการของเครื่องเล่นเกมที่ได้พูดถึงในตอนที่แล้ว เทคโนโลยีหลักของเครื่องเล่นเกมคือเทคโนโลยีทางด้านภาพและเสียงได้พัฒนาไปไกลมาก แต่เทคโนโลยีของตัวควบคุม(Controller) นั้นกลับพัฒนาไปได้ช้า โดยยังคงมีรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มีปุ่มบังคับเพิ่มมากขึ้นและสามารถใช้ระบบไร้สาย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในระบบย่อยที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้าหลังนั้นคือเทคโนโลยีของตัวควบคุม โดยการพยากรณ์ค้นหาเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะมุ่งไปที่อนาคตของเทคโนโลยีของตัวควบคุม ซึ่งเมื่อดูจากเส้นทางการพัฒนาของเทคโนโลยีของตัวควบคุมแล้ว จะพบว่ามันสอดคล้องกับวิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยีของ TRIZ ข้อที่ 4 ที่ว่าระบบเทคโนโลยีจะวิวัฒนาการไปสู่ระบบที่มีอันดับสูงขึ้น (the technology system transition to higher-level systems) ซึ่งหมายถึง จากเดิมที่มีเพียงหนึ่งเดียว(Mono System) ไปสู่ระบบคู่(Bi System) แล้วพัฒนาไปสู่ระบบมากกว่าสอง(Poly System)ในที่สุดดังรูปข้างล่าง

รูปภาพของTriZit  Benjaboonyazit
ตอบ: มองมุม TRIZ : 4. การพยากรณ์เทคโนโลยี (Technology Forecasting)
โดย TriZit Benjaboonyazit - พฤหัสบดี, 27 กันยายน 2012, 10:29AM
 
เครื่องเล่นเกม Wii (อ่านว่า วี)ของบริษัท Nintendo ซึ่งใช้ตัวควบคุมแบบสามารถตรวจจับทิศทางและตัวแหน่งการเคลื่อนที่ของผู้เล่นได้ ทำให้สามารถนำสัญญาณทิศทางและตัวแหน่งของผู้เล่นไปใช้โต้ตอบและควบคุมเกมบนหน้าจอทีวีได้ โดยมีการทำตัวควบคุมเพิ่มเป็นระบบคู่(Bi System)
เครื่องเล่นเกม Wii นี้สามารถเข้าไปเจาะตลาดใหม่ๆได้ อย่างเช่น ตลาดของกีฬาและการออกกำลังกาย โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้มือ เช่น ปิงปอง แบดมินตัน กอลฟ์ หรือ เทนนิส แต่ถ้าเป็นกีฬาประเภทที่ต้องใช้เท้า อย่างเช่น ฟุตบอล หรือ มวยไทย คงต้องมีการพัฒนาตัวควบคุมออกมาใหม่ ซึ่งเมื่อดูจากวิวัฒนาการของระบบเทคโนโลยีของ TRIZ ในรูปข้างบน ก็คงจะพอมองออกว่าในอนาคตวิวัฒนาการของตัวควบคุมจะต้องมุ่งไปสู่ระบบมากกว่าสอง(Poly System) โดยการใช้ตัวเซนเซอร์หลายตัวช่วยในการตรวจจับทิศทางและตัวแหน่งของทั้งมือทั้งเท้าและศีรษะ เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง
1. Achieving Effective Innovation Based On TRIZ Technological Evolution, J.G. Sun, R.H. Tan, G.Z. Cao, Proceedings of the 19th CIRP Design Conference – Competitive Design, Cranfield University, 30-31 March 2009, pp309
2. TRIZ Patterns of Evolution of Technological Systems, http://trizthailand.com/